ไม่กี่เดือนหลังจาก เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ประกาศวางมือ ขณะที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คือเจ้าของตำแหน่งแชมป์ พรีเมียร์ลีก เขาได้ปรากฏตัวที่โรงละครโลว์รี่ เพื่อร่วมงานเปิดตัวอัตชีวประวัติเล่มใหม่ของตัวเอง บนเวที เขาถูกเชิญให้ขยายความถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เขียนไว้ในหนังสือ โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงอดีตนักเตะชื่อดังของ แมนยูไนเต็ด อย่าง เดวิด เบ็คแฮม, รอย คีน และ รุด ฟาน นิส เตลรอย ซึ่งเป็นที่รักของเหล่า เร้ด อาร์มี่ ฉะนั้น เขาจึงต้องระมัดระวังคำพูดเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม กับอีกหัวข้อหนึ่งที่เขาชอบพูดถึงอยู่เสมออย่าง ทีมลิเวอร์พูล มันต่างออกไป เซอร์อเล็กซ์ พูดถึงพวกเขาได้อย่างเต็มปาก เฟอร์กี้ ย้อนเล่าเรื่องราวสุดคลาสสิคกับเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่เข้ามากุมบังเหียน ยูไนเต็ด ช่วงกลางทศวรรษ 80s ว่า -จะโค่นพวกนั้นลงจากบัลลังก์ให้ได้- และสิ่งที่ยอดเยี่ยมก็คือ… เขาหัวเราะเบา ๆ ในคืนนั้น เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2013 แฟนบอลรุ่นใหม่ของเราทุกวันนี้ไม่มีแม้แต่ความทรงจำว่า ลิเวอร์พูล เคยประสบความสำเร็จมาก่อน! .
.. อีกเหตุผลคือ แชมป์ พรีเมียร์ลีก ครั้งก่อนของพวกเขาเกิดขึ้นท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องล็อกดาวน์ หมายความว่า นี่จะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1990 ที่ ลิเวอร์พูล จะได้ชูถ้วยแชมป์ต่อหน้าหมู่เดอะ ค็อป ที่สุดแล้ว สิ่งที่สำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ก็คือ นี่เป็นแชมป์ลีกสูงสุดสมัยที่ 20 ของ ลิเวอร์พูล เทียบเท่าสถิติที่ ยูไนเต็ด ทำไว้เมื่อปี 2013 ซึ่ง ลิเวอร์พูล เองใช้เวลานานถึงสองทศวรรษในการไล่ตามระยะห่างที่เคยถูกมองว่าไม่มีทางจะตามทัน สำหรับ ยูไนเต็ด ช่วงปลายยุค เฟอร์กูสัน ความพยายามที่จะรักษาความเป็นหนึ่งกลายเป็นความฝังใจ ทั้งในหมู่ผู้จัดการทีม, นักเตะ และแฟนบอล หลังจากคว้าแชมป์ลีกครั้งแรกในรอบ 26 ปีเมื่อปี 1993 เพราะฤดูกาลต่อมา ตอนที่ออกไปเยือน แอนฟิลด์ นั้น พวกเขาถูกต้อนรับด้วยป้ายผ้าที่เขียนว่า ค่อยกลับมาใหม่ตอนที่พวกแกได้แชมป์ 18 สมัยแล้ว ช่วงปลายปี 2009 แฟนผีแดงเดินทางไปยัง เมอร์ซีย์ไซด์ พร้อมกับป้ายผ้าที่เขียนว่า พวกแกบอกให้เรากลับมาเมื่อได้ 18 สมัย… ตอนนี้เรากลับมาแล้ว และปีนั้น ริโอ เฟอร์ดินานด์ กล่าวว่าการไล่ตามทัน ลิเวอร์พูล ทำให้ความรู้สึกสะใจเป็นพิเศษ และเสริมว่าเป้าหมายต่อไปคือการแซงหน้าให้ได้ แล้วพวกเขาก็ทำได้จริง หนึ่งวันถัดจากที่ แมนยู คว้าแชมป์ลีกสมัยที่ 19 อย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 2011 แฟนบอลยูไนเต็ด สองคนได้ตั๋วแอบเข้าไปชมเกมในบ้านของ ลิเวอร์พูล ที่เจอกับ ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ แล้วชูป้าย MUFC 19 times บริเวณฝั่งอัฒจันทร์แอนฟิลด์ โร้ด พร้อมถ่ายภาพเพื่อนร่วมแผนการอีกคนที่อยู่บนเมนสแตนด์ ก่อนจะรีบหนีออกไปขึ้นรถที่จอดรออยู่ด้านนอก วันที่ เฟอร์กูสัน เกษียณในปี 2013 ตัวเลขอยู่ที่ 20 ต่อ 18 โดยที่ดูเหมือนว่าการเปลี่ยนอำนาจหนนี้จะเป็นการเปลี่ยนขั้วแบบถาวร ลิเวอร์พูล ตอนนั้นเป็นทีมธรรมดา ๆ รั้งอันดับ 7 และก่อนหน้านั้นก็จบอันดับ 8, 6 และ 7 ตลอดสามฤดูกาลก่อน แม้ ยูไนเต็ด อาจจะต้องใช้เวลาในการปรับตัวหลังจากไม่มีปูชนียบุคคลท่านนี้แล้ว แต่อาณาจักรที่ เฟอร์กูสัน สร้างขึ้นตลอดสองทศวรรษนั้นดูเหมือนจะแข็งแกร่งพอที่จะคงอยู่ต่อไปได้ อย่างไรก็ดี ประวัติศาสตร์คือสิ่งที่ต้องเรียนรู้ และมิอาจจะเพิกเฉยต่อเรื่องราวในอดีตได้ .
.. เมื่อ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คว้าแชมป์ลีกในปี 1967 พวกเขาขยับขึ้นมาเทียบเท่ากับ อาร์เซน่อล และ ลิเวอร์พูล ที่จำนวน 7 สมัย แล้วสามปีให้หลัง เอฟเวอร์ตัน ก็ตามมาอยู่ในระดับเดียวกัน จากนั้นในปี 1971 เป็น อาร์เซน่อล ที่กลายเป็นทีมแรกที่คว้าแชมป์ลีกสมัยที่ 8 ช่วงหลายปีต่อมา ลิเวอร์พูล กลายเป็นมหาอำนาจลูกหนังของ อังกฤษ.
.. ระหว่างปี 1973 ถึง 1990 ลิเวอร์พูล คว้าแชมป์ลีก 11 สมัย, ยูโรเปี้ยนคัพ 4 สมัย, ยูฟ่าคัพ 2 สมัย, เอฟเอ คัพ 3 สมัย และ ลีก คัพ อีก 4 สมัย ตรงกันข้าม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่กลับเข้าสู่ยุคตกต่ำ ความสำเร็จใน ยูโรเปี้ยน คัพ ปี 1968 ซึ่งเป็นครั้งแรกของสโมสรอังกฤษ กลับถูกมองว่าไม่ใช่จุดเริ่มต้นของยุคทอง แต่เป็นจุดสิ้นสุดของการเดินทางอันน่าหลงใหลที่ เซอร์ แมตต์ บัสบี้ สร้างทีมขึ้นใหม่จากซากปรักหักพังโศกนาฏกรรมมิวนิก บัสบี้ ลงจากตำแหน่งผู้จัดการทีมในปีถัดมา โดยเชื่อว่าสโมสรจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างแข็งแกร่งภายใต้การคุมทีมของ วิลฟ์ แม็คกินเนสส์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทั้ง แม็คกินเนสส์ และผู้สืบทอดอย่าง แฟรงค์ โอฟาร์เรลล์ ต่างรู้สึกหนักใจกับภารกิจอันหนักอึ้งที่ต้องรับผิดชอบ ทั้งการเติมเต็มช่องว่างหลังยุคบัสบี้ รวมถึงการจัดการกับช่วงขาลงของ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน และปัญหานอกสนามของ จอร์จ เบสต์ จากทีมที่เกือบได้ลุ้นแชมป์ในฤดูกาล 1972/73 ยูไนเต็ด กลับต้องตกชั้นในปี 1974 อย่างไรก็ตาม ยูไนเต็ด กลับขึ้นลีกสูงสุดทันทีภายใต้การคุมทีมของ ทอมมี่ ดอคเฮอร์ตี้ (Tommy Docherty) และสามารถเบียดแย่งแชมป์กับ ลิเวอร์พูล ในฤดูกาล 1975/76 และ 1979/80 รวมถึงเอาชนะคู่อริทีมนี้ได้ในนัดชิง เอฟเอ คัพปี 1977 ดอคเฮอร์ตี้, เดฟ เซ็กซ์ตัน, รอน แอ็ตคินสัน… ผู้จัดการทีมเหล่านี้ต่างมีช่วงเวลาที่ดีของตัวเอง แต่ไม่อาจพาทีมก้าวสุดท้ายไปสู่แชมป์ลีกได้ การซื้อตัวนักเตะด้วยค่าตัวสูงเพื่อเป็นชิ้นส่วนสุดท้ายในจิ๊กซอว์แห่งแชมป์ มักกลายเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด และทุกอย่างก็ต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ปี 1986 เฟอร์กูสัน ย้ายมาจาก อเบอร์ดีน ลีกสกอตแลนด์ เวลามันล่วงเลยมา 19 ปีนับตั้งแต่แชมป์ลีกครั้งสุดท้ายของ แมนฯ ยูไนเต็ด และเมื่อสิ้นสุดยุค 80 ช่องว่างแห่งความสำเร็จขยับเป็น 25 ปี ขณะที่ ลิเวอร์พูล คว้าแชมป์เป็นว่าเล่นตลอดช่วงทศวรรษ 1980 แต่ ปีเตอร์ โรบินสัน ผู้บริหารสูงสุดของ ลิเวอร์พูล ในตอนนั้นมักเตือนว่า ถ้าพวกนั้น(แมนยู) จากฝั่งถนนอีสต์แลงคาสเชียร์เริ่มเข้าที่เข้าทางเมื่อไหร่ เราจะลำบากแน่ แล้วมันก็เกิดขึ้นจริง ๆ นี่เป็นเรื่องซับซ้อนและยากที่จะอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ มีการวิเคราะห์ไว้ว่า หลัก ๆ แล้ว มันคือความประมาท การตัดสินใจที่ผิด และความล้มเหลวในการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมใหม่หลังจากที่พวกเขาไม่ใช่เจ้าแห่งทุกสิ่งอย่างอีกต่อไป ซึ่งมันไม่ต่างจาก ยูไนเต็ด หลังปี 1968 และ 2013 ตรงกันข้ามกับ ยูไนเต็ด ที่ทรุดลงทันทีหลังผู้จัดการทีมผู้ยิ่งใหญ่จากไป ความเกรียงไกรของ ลิเวอร์พูล ยังคงอยู่หลังการวางมือของบรรดาตำนานผู้จัดการทีม แต่เมื่อ ดัลกลิช ลาออกในปี 1991 จากความเหนื่อยล้าทั้งเรื่องงานและความเศร้าจากเหตุการณ์ฮิลส์โบโร่ มันก็เป็นการปิดฉากวัฒนธรรม Boot Room ไปโดยปริยาย แกรม ซูเนสส์ อดีตเพื่อนร่วมทีมของ ดัลกลิช เข้ามารับงานด้วยความมุ่งมั่นจะแปลงโฉมทีมชุดเก่าที่เพิ่งคว้าแชมป์ลีกเมื่อปีก่อนหน้าให้กลับมาทันสมัย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ แนวทางลิเวอร์พูล ที่เคยเน้นความสามัคคีและความต่อเนื่อง กลับพังทลายลงทันที พอล สจ๊วต หนึ่งในนักเตะที่ไม่ประสบความสำเร็จ กล่าวกับ The Athletic ว่า ปรัชญาทั้งหมดมันเปลี่ยนไปแล้วตอนที่ผมมาในปี 1992 นักเตะหลายคนเริ่มรู้สึกว่า กำแพงกำลังล่มสลาย และควรดูแลตัวเองให้ดีที่สุด รอย อีแวนส์ ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจาก ซูเนสส์ และเป็นศิษย์เก่าจาก Boot Room เป็นคนที่ประสานทุกฝ่ายได้ดี แต่สไตล์การบริหารที่นุ่มนวลของเขากลับกลายเป็นจุดอ่อนในห้องแต่งตัวที่ขาดความกระหายในชัยชนะ ซึ่งในทางกลับกัน เป็นสิ่งที่ เฟอร์กูสัน ปลูกฝังไว้ในทีมยูไนเต็ด อย่างต่อเนื่อง พฤติกรรมปาร์ตี้ของ Spice Boys ที่สื่ออังกฤษตั้งชื่อให้กับนักเตะ ลิเวอร์พูล ยุคนั้น เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่ จอห์น สเกลส์ อดีตกองหลังลิเวอร์พูลกล่าวว่า พวกเราไม่มีความโหดเหี้ยม ไม่มีความมุ่งมั่นแบบสุดขีดที่ต้องการจะเป็นที่หนึ่งทุกสัปดาห์ สเกลส์ เสริมว่า ตอนนั้นที่ ลิเวอร์พูล ยังรู้สึกว่า แค่รอเวลาเท่านั้นที่เราจะกลับมาคว้าแชมป์ได้อีก ช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่ในยุค 70s และ 80s ยังสดใหม่อยู่ในหัวของทุกคน แต่หลายอย่างก็เกิดขึ้นมากมายหลังจากปี 1990 แม้จะมีช่วงเวลาที่ ลิเวอร์พูล กลับมาท้าทายบ้าง ภายใต้การคุมทีมของ อีแวนส์, เชราร์ อุลลิเยร์, ราฟา เบนิเตซ หรือแม้แต่ เบรนแดน ร็อดเจอร์ส ที่เกือบคว้าแชมป์ในปี 2013/14 (จบอันดับสองตามหลังแมนเชสเตอร์ ซิตี้แค่ 2 แต้ม) แต่ความสำเร็จเหล่านั้น ทั้งถ้วยแชมป์ยุโรปในปี 2005 ก็ไม่เคยแปรเปลี่ยนเป็นความยิ่งใหญ่ในเวทีลีกได้ สตีฟ นิโคล หนึ่งในฮีโร่ยุค 80 ที่รอดจากการปล่อยทิ้งในยุค ซูเนสส์ กล่าวว่า มีช่วงเวลาหลังปี 1990 ที่ผมคิดว่า -โอเค ตอนนี้เราก็ไม่แย่หรอก แต่อาจจะต้องใช้เวลาอีกหน่อย- แต่พอรู้ตัวอีกที มันก็ผ่านไป 5 ปี, 10 ปี, 20 ปี… ยิ่งนานเท่าไหร่ มันก็ยิ่งยากเท่านั้น หลายอย่างสามารถนำมาอธิบายถึงการถดถอยของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หลังยุค เฟอร์กูสัน ได้เช่นกัน นักเตะที่อายุมากขึ้นไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคใหม่ได้, การขาดสปิริตของผู้ชนะในห้องแต่งตัวที่เริ่มคิดถึงแค่ตัวเอง, การเสริมทัพที่ผิดพลาด, ความคาดหวังต่อดาวรุ่งที่ยังไม่ถึงระดับ, ความล้มเหลวในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง และความประมาทที่คิดว่า -แค่เรื่องของเวลาเท่านั้นที่เราจะกลับมาคว้าแชมป์- ซึ่งในความจริงแล้วมันไม่ง่ายแบบนั้น ผ่านมาแล้ว 12 ปีจากแชมป์ลีกครั้งล่าสุดของ ยูไนเต็ด แม้จะมีปีที่พวกเขาจบอันดับสองภายใต้ โชเซ่ มูรินโญ่ ตอนปี 2018 และ โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ ในปี 2021 แต่ก็ไม่มีฤดูกาลไหนที่ได้ลุ้นแชมป์อย่างจริงจังเลย มันคือวงจรเดิม ๆ ของการขึ้น ๆ ลง ๆ ภายใต้ผู้จัดการทีมหลายคน ซึ่งคนล่าสุดคือ เอริก เทน ฮาก ที่มักเริ่มต้นด้วยผลงานดี (เช่น การได้สิทธิ์ไปเล่น แชมเปี้ยนส์ ลีก หรือคว้าแชมป์บอลถ้วยบางรายการ) แล้วต่อมาก็ตกต่ำอย่างรวดเร็ว ผู้จัดการทีมปัจจุบัน รูเบน อาโมริม หวังว่าการคัมแบ็กสุดมหัศจรรย์ใน ยูโรปา ลีก กับ โอลิมปิก ลียง จะเป็นจุดเปลี่ยนสู่ความสำเร็จ เหมือนกับที่ เจอร์เก้น คล็อปป์ เคยพา ลิเวอร์พูล พลิกชนะ ดอร์ทมุนด์ ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ยูโรปา ลีก ฤดูกาลแรกของเขา แม้จะเจอความพ่ายแพ้ต่อคู่แข่งจาก เมอร์ซี่ย์ไซด์ เป็นส่วนใหญ่ในช่วงตลอดทศวรรษที่ผ่านมา แต่แฟนบอลยูไนเต็ด ยังคงร้องเพลงย้ำเตือนถึงยุคทองของทีมอยู่เสมอ จึงทำให้ Twenty times, twenty times, Man United กลายเป็นเพลงประจำที่แฟน ๆ ใช้เพื่อเตือนตนเองและคู่แข่งจาก ลิเวอร์พูล ว่า แม้ความรุ่งโรจน์จะเอนไปทางฝั่งตรงข้าม แต่ ยูไนเต็ด ยังเป็นทีมที่ครองสถิติแชมป์ลีกอังกฤษสูงสุดอยู่ นั่นเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้เลยตอนเด็ก ๆ นิค ฮาวเวิร์ด แฟนบอลยูไนเต็ดวัย 33 กล่าว การไล่ตามพวกเขาทันที่แชมป์ลีก 18 สมัยถือว่ายิ่งใหญ่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพราะฤดูกาลนั้น (2008-09) เรากำลังเบียดแย่งแชมป์กับ ลิเวอร์พูล แล้วเราก็คว้าแชมป์สมัยที่ 19 ที่ อีวู้ด พาร์ค ต่อด้วยแชมป์ที่ 20 จากแฮตทริกของ โรบิน ฟาน เพอร์ซี ใส่ แอสตัน วิลล่า ซึ่งก็นานมา 12 ปีแล้ว และถ้าคุณมาบอกผมตอนนั้นว่า (ลิเวอร์พูล) จะไล่ขึ้นมาทันที่ 20 ได้อะนะ.
..” ต่อมา คำถามคือ พวกเขายังจะร้องเพลง Twenty times ได้อยู่หรือไม่ หากแชมป์ลีกที่เคยถือครองแต่เพียงผู้เดียวนี้ถูกไล่ตามทัน หรือแย่กว่านั้น หาก ลิเวอร์พูล แซงขึ้นนำล่ะ? อาจจะทำให้เสน่ห์มันหายไปบ้าง เขากล่าว เป็นสิ่งที่ ฮาวเวิร์ด ไม่อยากนึกถึงด้วยซ้ำ ก่อนปี 2020 เป้าหมายหลักของ ลิเวอร์พูล คือการยุติการรอคอยแชมป์ลีกอันยาวนาน แต่แม้จะลดช่องว่างลงเหลือเพียงหนึ่งครั้ง ความสนใจในช่วงห้าปีที่ผ่านมาทั้งภายใต้การคุมทีมของ คล็อปป์ และตอนนี้ของ อาร์เน่อ ก็ยังมุ่งเน้นไปที่การพยายามคว้าแชมป์อีกครั้ง มากกว่าการจ้องจะแซงหน้าทางประวัติศาสตร์ ไม่มีใครแสดงให้เห็นว่าเป็นแบบนั้น แม้แต่น้อย ไม่เคยมีการกล่าวอ้าง หรือสร้างวาทกรรมนี้ขึ้นมา แตกต่างจากยุคของ เฟอร์กูสัน ที่เจ้าตัวและลูกทีมเป็นฝ่ายสร้างวาทกรรมนี้ขึ้นมาเอง ไม่ได้มาจากสื่อ บางทีอาจเป็นผลสะท้อนจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไปในพรีเมียร์ลีก เฟอร์กูสัน เข้ารับตำแหน่งตอนที่ ลิเวอร์พูล ยังเป็นมหาอำนาจของฟุตบอลอังกฤษ ขณะที่ อาร์เน่อ (รวมถึง คล็อปป์) เข้ารับงานในช่วงที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ไร้พิษสง ไรอัน กิ๊กส์, พอล สโคลส์, สองพี่น้อง เนวิลล์ และ นิกกี้ บัตต์ ต่างเติบโตมากับ ยูไนเต็ด และเกลียด ลิเวอร์พูล แบบฝังรากลึก แม้แต่ในหมู่แฟนบอล ลิเวอร์พูล เอง เรื่องนี้ก็แทบไม่อยู่ในหัวใจพวกเขาเลย หรือถ้ามีก็อาจจะมีอยู่บ้าง.
.. เอาจริง ๆ ผมไม่เคยคิดถึงเรื่องนั้นเลยจนคุณพูดขึ้นมา เดเมียน คาวานาห์ แฟนบอลวัย 56 ผู้ตามทีมไปทั่วทั้งยุโรปกล่าว สำหรับผม มันไม่เกี่ยวกับการตามทันหรือแซง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรอก แต่มันคือการทำให้ ลิเวอร์พูล กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง และส่งชื่อเสียงของสโมสรกับเมืองนี้ออกไปสู่สายตาทั่วโลก” นีล แอตกินสัน ผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ The Anfield Wrap ก็เห็นคล้ายกัน เขาบอกว่า แม้มันจะดูเหมาะที่จะเอาไปแซวแฟนยูไนเต็ด ตอนเราไปเยือน โอลด์ แทรฟฟอร์ด ฤดูกาลหน้า แต่มันก็แทบไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะพวกเขาห่วยเหลือเกินตอนนี้ สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าสำหรับเขาคือ โอกาสที่นักเตะและแฟนบอล ลิเวอร์พูล จะได้ฉลองแชมป์ลีกด้วยกัน มันเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่มีโอกาสได้ทำในปี 2020 เพราะการระบาดของโควิด-19 ถ้ามีประกาศว่าโลกจะถูกอุกกาบาตชนในอีก 10 นาทีข้างหน้า ผมก็ยังอยากให้ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ออกมาประกาศผ่านโทรทัศน์ว่า ลิเวอร์พูล คือแชมป์ แต่ในความจริงที่แฟน ลิเวอร์พูล ทุกคนรู้กันดีคือโอกาสที่อุกกาบาตจะชนโลกยังน่าจะมีมากกว่าการที่ เฟอร์กูสัน จะยอมรับความพ่ายแพ้ นอกจากการชิงความเป็นใหญ่ในประเทศแล้ว ยังมีคำถามซับซ้อนที่ไม่มีข้อยุติว่า ใครคือสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ การคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกครั้งนี้นับเป็นโทรฟี่ลำดับที่ 52 ของ ลิเวอร์พูล ในมุมมองของพวกเขา ซึ่งนั่นหมายถึง ลิเวอร์พูล จะทิ้งห่าง แมนฯ ยูไนเต็ด ออกไปเป็น 5 ถ้วย โดยปัจจุบัน ยูไนเต็ด มี 47 ถ้วย แต่หากนับเฉพาะแชมป์ลีก ก็เสมอกันที่ 20 ครั้ง และหากนับถ้วยยุโรป ลิเวอร์พูล จะนำห่าง 6 ต่อ 3 แมนฯ ยูไนเต็ด จะเหนือกว่าแค่ในถ้วย เอฟเอคัพ (13 ต่อ 8) และ ยูโรเปี้ยน คัพ วินเนอร์ส คัพ (1 ต่อ 0 ซึ่งเลิกจัดไปแล้ว) มันเถียงไม่ได้เลย แอตกินสัน กล่าว ลิเวอร์พูล คือสโมสรที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ แต่ฝั่ง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่เห็นด้วย พวกเขานับรวมถ้วย คอมมิวนิตี้ ชิลด์ เป็นโทรฟี่หลัก โดยบอกว่าคว้าแชมป์มาแล้ว 21 ครั้ง เทียบกับของ ลิเวอร์พูล 16 ครั้ง หากนับแบบนี้ ยูไนเต็ด นำ 68-67 และเมื่อ ลิเวอร์พูล คว้าแชมป์ลีกฤดูกาลนี้ ตัวเลขก็มาเท่ากัน 68-68 การนับ คอมมิวนิตี้ ชิลด์ เป็นโทรฟี่หลักหรือไม่นั้นสร้างความถกเถียงในหมู่นักสถิติมานาน บางคนมองว่าเป็นเพียงแมตช์กระชับมิตรที่ใช้เปิดฤดูกาล เฟอร์กูสัน เองก็เคยเห็นแบบนั้น แม้เขาจะเป็นคนพา ยูไนเต็ด คว้าแชมป์รายการนี้ถึง 10 ครั้งก็ตาม รูปแบบที่เป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน การพบกันระหว่างแชมป์ลีกกับแชมป์ อฟเอคัพ เพิ่งเริ่มต้นในปี 1974 ขณะที่ก่อนหน้านั้น ยูไนเต็ด คว้าแชมป์รายการนี้ไปแล้ว 7 ครั้ง (รวมที่ต้องแบ่งกัน 2 ครั้ง) ส่วน ลิเวอร์พูล ได้มา 3 ครั้ง (แบ่งกัน 2 ครั้ง) และย้อนไปไกลกว่านั้น รูปแบบการจัดแข่งก็เปลี่ยนไปเรื่อย ไม่มีความแน่นอน ยังมีการถกเถียงอีกว่า ถ้วยยูโรเปี้ยน ซูเปอร์คัพ, สโมสรโลก หรือ อินเตอร์คอนติเนนตัล ควรนับเป็นโทรฟี่หลักหรือไม่ แต่ทั้ง ลิเวอร์พูล และ ยูไนเต็ด ต่างก็นับถ้วยเหล่านี้รวมอยู่ในเกียรติประวัติของตน หากไม่รวม ลิเวอร์พูลจะนำ 46-44 เมื่อ เฟอร์กูสัน วางมือในปี 2013 ยูไนเต็ด มีถ้วยรวมทั้งหมดมากกว่า ลิเวอร์พูล (62 ต่อ 59 หากนับคอมมิวนิตี้ ชิลด์) และเสมอกันที่ 44-44 หากนับเฉพาะโทรฟี่หลัก หลังจากคว้า ลีก คัพ และ ยูโรป้า ลีก ในปี 2017 ภายใต้การคุมทีมของ มูรินโญ่ แต่ความสำเร็จ 7 โทรฟี่หลักภายใต้การคุมทีมของ คล็อปป์ พา ลิเวอร์พูล กลับขึ้นมานำ 51-47 (ไม่นับคอมมิวนิตี้ ชิลด์) แต่แม้ในยามยากลำบาก อย่างที่ ลิเวอร์พูล เคยเผชิญในยุค 2000 และ ยูไนเต็ด เจอทั้งในยุค 1980 และทศวรรษที่ผ่านมา สโมสรที่ประสบความสำเร็จที่สุดก็มักจะหาหนทางเติมโทรฟี่ในตู้โชว์ของตัวเองได้อยู่เสมอ ยูโรป้า ลีก ยังเป็นเป้าหมายของ ยูไนเต็ด ในฤดูกาลนี้ และหากพวกเขาผ่าน บิลเบา ได้ก็จะยืนยันได้ว่าโทรฟี่ใบที่ 69 คือการทวงคืนสถานะ -สโมสรที่ประสบความสำเร็จที่สุดในอังกฤษ- อย่างน้อย ๆ ก็จนกว่า ลิเวอร์พูล จะลงเล่น คอมมิวนิตี้ ชิลด์ ในเดือนสิงหาคม